สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย จัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวสากล ซึ่งเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันรำลึกถึงเหยื่อของเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวหรือโฮโลคอสต์ (๒๗ มกราคม) ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง มีชาวยิวหกล้านคน รวมถึงเด็กๆ หนึ่งล้านคน และกลุ่มคนผู้ซึ่ง “ไม่เป็นที่ต้องการ” อีกห้าล้านคน ถูกสังหารโดยรัฐบาลนาซี อย่างเลือดเย็น เป็นระบบ และโหดเหี้ยม
พิธีจัดขึ้นอย่างเป็นกันเองภายใต้หัวข้อ “การต่อต้านของชาวยิวในเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว-รำลึก ๘๐ ปี ของการต่อสู้ที่เก็ตโตวอร์ซอ” ซึ่งพิจารณาเลือกโดย ยาด วาเชม (อนุสรณ์สถานเพื่อการรำลึกถึงเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว) เพื่อระลึกถึงด้านที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันมากนักของโฮโลคอสต์ นั่นคือ วีรกรรมและความกล้าหาญของผู้คนอันพึงจดจำ
ในบรรดาเรื่องราวของวีรกรรมต่างๆ เหตุการณ์ซึ่งเป็นที่โดดเด่น คงจะเป็นเรื่องราวการลุกฮือที่เก็ตโตวอร์ซอในโปแลนด์เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๖ (เก็ตโต คือ อาณาเขตที่มีรั้วรอบขอบชิด เพื่อแยกชาวยิวออกจากพลเมืองอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยิว) เหตุการณ์นี้เป็นการก่อกบถต่อต้านนาซีที่เกิดขึ้นในเขตเมืองเป็นครั้งแรกของบรรดาดินแดนที่ถูกยึดครองโดยระบอบนาซี ทั้งยังเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานที่สุด โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากที่สุดด้วย ขบวนการต่อต้านนี้ภายหลังกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของผู้คนจำนวนน้อยที่ต่อสู้กับผู้คนจำนวนมาก เป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพและพลังแห่งจิตวิญญานของมนุษย์
ระหว่างพิธีนางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย จุดเทียนเพื่อรำลึกถึงเหยื่อหกล้านคน และสำหรับปีนี้ สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลได้รับเกียรติจากนายเมนาเฮม โฟเกล อดีตโฆษกของยาด วาเชม มาเล่าเรื่องของคุณพ่อผู้ถูกบังคับให้มาเป็นแรงงานในกองทัพนาซี ต่อมาท่านหนีออกมาได้ และกลายมาป็นนายทหารในกองทัพรัสเซียที่ต่อสู้กับทหารนาซี อีกท่านหนึ่งคือ นางสาวมนสิชา รุ่งชวาลนนท์ บล็อกเกอร์ประวัติศาสตร์และนักเขียน ซึ่งมาพูดเรื่องความสำคัญของการนำเรื่องราวในอดีตมาเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีกให้ผู้คนรุ่นต่อๆ ไปได้ฟัง นอกจากนั้นแล้วยังมีการแสดงดนตรีโดยนักศึกษาจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย
แม้ว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวจะเกิดขึ้นมาแล้วกว่า ๘๐ ปี แต่ความเกลียดชัง อคติ การสังหารหมู่ และเหตุการณ์น่าสยดสยองต่างๆ ยังคงมีอยู่ทั่วโลก ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตออร์นาได้กล่าวในระหว่างพิธีว่า “เราใคร่ขอเตือนสติบรรดาผู้คนรุ่นปัจจุบันและผู้คนรุ่นต่อๆ ไปให้ระลึกว่า พวกเราเท่านั้นที่จะลุกขึ้นสู้ เพื่อหยุดมิให้ความโหดร้ายเช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ขอให้เราได้สอน และแนะนำเยาวชนของเรา ให้หยุดยั้งและแก้ไขความขัดแย้งต่างๆ โดยศึกษาจากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต”
***
อ่านบทความโดยเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย นางออร์นา ซากิฟ เรื่อง "การต่อต้านของชาวยิว ในเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (โฮโลคอสต์) รำลึก 80 ปี ของการต่อสู้ที่เก็ตโตวอร์ซอ"